Thursday, February 13, 2014

เทพเจ้าดาวเหนือ

สมัยที่ยังอยู่หอพักของมหาวิทยาลัย ได้อ่านเรื่อง "ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ" พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ซึ่งในช่วงนั้นก็มีสำนักพิมพ์อื่น ๆ พิมพ์จำหน่ายด้วยในชื่อ "หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ" ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าตอนนั้นเราอยู่ในฐานะ "นิสิตหอพัก" หรือว่า "สิงหอ" อยู่เพราะเราเรียนจบแล้ว เพราะว่ามันผ่านมานานเหลือเกิน แต่ที่แน่ ๆ คือ คำ "เทพเจ้าดาวเหนือ" อยู่ในความทรงจำของเราตั้งแต่นั้น แม้ว่าจะไม่ค่อยได้ระลึกถึง แต่ก็ไม่ลืม และจะ "Recall" ได้หากมีปัจจัยมากระทบ

ด้วยเหตุที่ว่าเราไม่เห็นต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น แต่ถึงเห็นก็คงจะอ่านไม่รู้เรื่อง จึงอยากจะพูดถึงชื่อเรื่อง "หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ" ที่ฟังแล้วก็ยังกำกวม เพราะมีทางเป็นไปได้ 2 นัยคือ นัยแรก แยกได้เป็น หมัดเทพเจ้า + ดาวเหนือ หมายถึง หมัดที่ไร้ผู้ต่อต้านดุจเทพเจ้า กับ ดาวเหนือ ซึ่งหมายถึง สำนัก อันเป็นต้นกำเนิด ส่วนนัยที่สอง แยกได้เป็น หมัด + เทพเจ้าดาวเหนือ หมายถึง หมัดที่สืบทอดจากเทพเจ้าดาวเหนือ

แต่ในเนื้อเรื่องที่ว่า "เคนชิโร่" บุรุษผู้มีรอยแผลเป็นรูปดาวเหนือ 7 แห่งบนหน้าอกเท่านั้นที่จะสามารถกอบกู้โลกได้ ด้วย "หมัดอุดรเทวะ" เพลงหมัดที่สามารถทะลวงจุดตายของคู่ต่อสู้ ส่งผลให้อวัยวะภายในแหลกเหลว และร่างกายระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ ได้ในพริบตา นั้น หมัดอุดรเทวะ แยกได้เป็น หมัด + อุดรเทวะ หมายถึง หมัด กับ เทพแห่งแดนเหนือ ซึ่งก็ไม่ใช่ เทพเจ้าดาวเหนือ เมื่อพิจารณากับอีกตัวละคร ฉายา "หกหมัดศักดิ์สิทธิ์ดาวใต้" และในเนื้อเรื่องเท่าที่เราจำได้ก็ไม่พบว่ามี "เทพเจ้าดาวใต้" จึงเป็นการถูกต้องแล้วที่ทางสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจใช้ชื่อว่า "ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ" ภายหลังจากที่ได้รับลิขสิทธิ์ตีพิมพ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ตอนแรกที่เราได้รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของ "เทพเจ้าดาวเหนือ" เราคิดว่าผู้เขียนเรื่องนี้คือ บุรอนซอน และผู้วาดภาพ คือ เท็ตสึโอะ ฮาร่า นั้นรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าดาวเหนือด้วย แม้จะเป็นเรื่องปรัมปราก็ตาม แต่เมื่อเราได้เห็น คลิปวิดีโอตอนจบ ของเรื่องนี้แล้ว เราถึงรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ทั้งผู้แต่งเนื้อเรื่องกับผู้วาดภาพไม่ได้มีความรู้ในเรื่อง "ดาวเหนือ" จริง ๆ เลย ทั้งในแง่เรื่องปรัมปรา และเรื่องจริงตามดาราศาสตร์ หากแต่เป็นเรื่องที่จินตนาการเอา แถมยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีอยู่ด้วย


ยิ่งชื่อเรื่อง Hokuto no Ken หรือ Fist of the North Star ยิ่งแล้วกันไปใหญ่ พราะ Hokuto ได้มีผู้รู้อธิบายไว้ว่า "北斗 (Hokuto) ความหมายในปัจจุบัน คือ กลุ่มดาวกระบวยใหญ่ (The Big Dipper) หรือกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major)" แต่เหตุไฉน จึงไปเกี่ยวกับ ดาวเหนือ (North Star) หรือ กลุ่มดาวหมีเล็ก (Ursa Minor) ดูรูปประกอบข้างล่างนี้ที่ถ่ายภาพเอาจาก คลิปวิดีโอ "หมัดเทพเจ้าดาวเหนือตอนจบ" แล้วลองเทียบกับรูปข้างบนดู


และที่ว่า "เคนชิโร่" บุรุษผู้มีรอยแผลเป็นรูปดาวเหนือ 7 แห่งบนหน้าอก..." นั้น ดูจากรูปข้างล่างจะเห็นว่าไม่ใช่แบบแผนของดาวเหนือ เพราะมันเป็นแบบแผนของดาวกระบวย หรือ ดาวหมีใหญ่ รวมถึงแบบแผนของกลุ่มดาวที่เห็นบนฉากหลังที่เป็นท้องฟ้าในเส้นประนั่นก็เป็นดาวกระบวยด้วยเหมือนกัน


เมื่อดูจากชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ Fist of the North Star แล้วการที่ทางไทยไปตั้งชื่อเรื่องว่า "หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ" นั้นจึงเป็นการยกเมฆเอาเอง (หรือเปล่า?)

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีเรื่องดังที่กล่าวมานี้เกิดขึ้น คำว่า "เทพเจ้าดาวเหนือ" ก็คงไม่อยู่ในสำนึกของเรา เพราะเราไม่เคยพบคำ "เทพเจ้าดาวเหนือ" นี้เลยทั้งในประวัติศาสตร์ศิลปะที่เราเคยศึกษาตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย และเรื่องเทพปกรณัม ที่เราชอบอ่านตอนเป็นเด็ก

ตอนแรกที่เราได้รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของ "เทพเจ้าดาวเหนือ" เราทั้งประหลาดใจและสงสัย เพราะเราไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นชื่อนี้มาก่อนเลย นอกจากคำ "หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ" ด้วยการที่เราเคยศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะมา เมืองที่เคยรุ่งเรืองก็กลายเป็นอดีต ความเชื่อเก่าเสื่อมไป ลัทธิใหม่ ศาสนาใหม่เกิดขึ้น หรือเข้ามาแทนที่ ทำให้เราเชื่อว่า เทพนี้ต้องเคยมีมาในประวัติศาสตร์ เคยรุ่งเรืองในสมัยเมื่อนานมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาลในแผ่นดินจีน ญี่ปุ่น ฯลฯ แต่พอลัทธิเต๋ารุ่งเรืองและศาสนาพุทธแผ่อิทธิพลมาถึงก็ทำให้เทพนี้เสื่อมความนิยมลงไป จนกลายเป็นเรื่องปรัมปรา แต่จะมีชนกลุ่มหนึ่ง หมู่บ้านหนึ่ง ตำบลหนึ่ง ฯลฯ ที่สืบทอดเรื่องราว และนับถือเทพนี้

ในขณะที่เราได้รับรู้เรื่องนี้นั้น เราได้ผูกสมัครรักใคร่กับหญิงสาวจากประเทศลาวคนหนึ่ง (ตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นสาวลาว) พอต่อมาเมื่อได้รู้จักนักธุรกิจชาวลาวจากพี่ที่นับถือ เมื่อเขาชวนเข้าไปที่ลาว เราจึงตกลง เพราะเราคิดว่า บางทีเราอาจจะได้เบาะแสยืนยันจากที่นั่น จากคนเป็น ๆ แต่พอไปถึงประเทศลาวเราก็ไม่มีโอกาสได้ออกไปไหน นอกจากอยู่แต่ในเวียงจันทร์ 3 วันจึงได้กลับ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาเนื่องด้วยความสัมพันธ์กับนักธุรกิจชาวลาวนั่นเองที่ทำให้เรามีโอกาสได้พบปะกับนักธุรกิจจากจีนแผ่นดินใหญ่ เราถามเขา (ผ่านล่าม) ว่า "ในประเทศจีน มีเทพเจ้าดาวเหนือหรือไม่?" ทำนองนี้ ชาวจีนคนนั้นก็ใช้ปากกาเขียนรูปแบบหรือแผนผัง "เจ็ดดาวเหนือ" ให้เราดู พร้อมกับถามเราว่า "แบบนี้ใช่ไหม?" ปรากฎว่า มันไม่เหมือนรูปถ่ายขององค์การ NASA ดังรูปข้างบน แต่มันเหมือนกับที่เราเห็น (ภาพบนสุด - มันกลับด้านกันกับรูปถ่ายขององค์การ NASA) เราจึงตอบว่า "ใช่" เขาก็ตอบเราว่า

"มี แต่มันเป็นเรื่องปรัมปรา นานมาก"

ได้ยินแค่นี้เราก็พอใจ เพราะคำตอบที่ได้นั้นมันตรงกับความคิดของเรา


'ชิโด เจ็ดดาว

Tuesday, February 11, 2014

มหัศจรรย์ เจ็ดดาวเหนือ

คืนวันหนึ่งในช่วงปลายฤดูร้อนที่บ้านแม่ของเราที่ลำปาง ขณะที่เรากำลังเอนกายลงนอน เรามองออกไปนอกหน้าต่างเห็นท้องฟ้ามืดมิดปราศจากแสงเดือน เราเกิดนึกอยากดูดาวบนท้องฟ้า เพราะมันนานเหลือเกินนับตั้งแต่เข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร เราไม่เคยได้ดูดาวอีกเลย เพราะแสงไฟฟ้าจากทั้งบ้านเรือน อาคาร ถนนหนทาง มันทำให้ท้องฟ้าไม่มืดสนิทแม้จะเป็นคืนเดือนมืด เราจึงลุกขึ้นมาแล้วชะโงกตัวออกนอกหน้าต่างแหงนหน้าขึ้นมองดูท้องฟ้า...

เราเห็น "ดาวเหนือเจ็ดดวง" เด่นท่ามกลางดวงดาวอื่น ๆ เราแปลกใจมากที่เห็นว่า ดาวเหนือ 7 ดวงนั้นมันลอยต่ำกว่าดาวดวงอื่น ๆ และดาวทั้งหมดที่เราเห็นนั้นออกเป็นสีเหลืองทอง เราแหงนหน้ามองอยู่นานจนเมื่อยคอ เราจึงดึงตัวกลับแล้วนอนลง จากนั้นเราก็ลืมเหตุการณ์ในคืนวันนั้นไปเลย


หลังจากนั้นก็มีเหตุให้เราระลึกถึงคืนวันนั้นได้ หลังจากที่เราลงมากรุงเทพฯได้ระยะหนึ่ง รวมทั้งการรับรู้เรื่องราว จึงทำให้เราจำได้ไม่ลืมเลือน และตั้งใจว่าเมื่อได้กลับไปลำปางจะต้องดูดาวอีกให้หายสงสัย


ถัดมาเมื่อมีโอกาสได้กลับไปที่ลำปาง เราจึงตั้งใจเต็มที่ที่จะดูให้รู้ชัด และประจวบเหมาะที่เราบังเอิญกลับไปในช่วงข้างแรมพอดี ท้องฟ้าโปร่งไม่มีเมฆ ท้องฟ้ามืดสนิท เราจึงดูดาวบนท้องฟ้าด้วยความอยากรู้


ดาวบนท้องฟ้าระยิบระยับละลานตาไปหมด ไม่มีทางที่จะเห็นเป็นรูปแบบอย่างที่เราเห็นในวันนั้น เราแหงนหน้ามองจนเมื่อยคอ และมองอยู่หลายรอบ ก็เลยเลิกเพราะใช้เวลานานแล้วก็ไม่สามารถมองเห็นเป็นอย่างที่เคยเห็นได้


หลังจากนั้นเราได้กลับลำปางอีก 2-3 ครั้ง และทุกครั้งเราก็จะแหงนหน้าดูดาวบนท้องฟ้า เพื่อจะให้เห็นเป็นดังที่เคยเห็น แต่ก็เหมือนเดิมทุกครั้ง ดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า มันละลานตาไปหมด 
ไม่สามารถมองเห็นเป็นอย่างที่เคยเห็นได้

และเมื่อเราได้รู้แล้วถึงเหตุการณ์ในวันนั้น เวลาเรากลับบ้านเราจึงไม่ได้มองดูท้องฟ้าอย่างตั้งใจดูอีกเลย...

ดาวเหนือ (Polaris หรือ North Star) เป็นดาวที่อยู่ในตำแหน่งหางของกลุ่มดาว (Constellation) หมีเล็ก (Ursa Minor) แต่ทางจีน ญี่ปุ่น เรียกกลุ่มดาวนี้ว่า "เจ็ดดาวเหนือ"

ดาวเหนือ (ตะวันตก) เป็นดาวที่มีตำแหน่งคงที่ในท้องฟ้า สมัยโบราณจึงใช้เป็นเข็มทิศในการเดินทางในเวลากลางคืน อย่างไรก็ตามใช่ว่าจะมองไปในท้องฟ้าแล้วก็จะเห็นได้เลย จะต้องรู้วิธีในการหาตำแหน่งของดาวเหนือ (คลิกลิงค์นี้ แล้วใช้เม้าส์ชี้ที่รูป) นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นเหมือนที่เคยเห็นได้เลย

จากรูปโลโก้ของ Blog นี้ ถ้าผู้สร้างรูปนี้ไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีรัศมีเรืองรอบดวงดาว ก็คงยากที่จะมองเห็นรูปแบบของ 2 กลุ่มดาว คือ ดาวหมีเล็ก ที่อยู่ข้างบน และ ดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) ที่อยู่ด้านล่าง

นี่คือสิ่งที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา รวมถึงการใช้กล้องดูดาว ตลอดจนรูปแผนผังของกลุ่มดาว

แต่เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและมหัศจรรย์ ก็คือ หลังจากนั้น เรามีโอกาสได้พบชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมาทำธุรกิจในประเทศไทย เราจึงถามเรื่องที่เราได้รับรู้ ชาวจีนคนนั้นก็ใช้ปากกาเขียนรูปแบบหรือแผนผัง "เจ็ดดาวเหนือ" ให้เราดู ปรากฎว่า มันไม่เหมือนรูปโลโก้ของบล็อคนี้รวมถึงรูปถ่ายขององค์การ NASA ดังรูปข้างบน แต่มันเหมือนกับที่เราเห็น ดังรูปข้างล่างนี้ ซึ่งเกิดจากการใช้เทคนิคกลับด้าน นั่นคือ การที่จะเห็นแผนผังแบบนี้ได้ ก็ต้องดูเงาในกระจกเงาหรือในน้ำเท่านั้น ในสมัยโบราณ





*โปรดติดตามเรื่องต่อไป